ประวัติโรงเรียน

 พ.ศ. 2455 วโรกาสที่สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถพระพันปีหลวงพระบรมราชินีนาถในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโดยเสด็จจังหวัดตรัง ทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานทุนทรัพย์ เป็นเงิน 4,000 บาท สำหรับจัดสร้างโรงเรียนประจำจังหวัดชาย ณ ถนนพัทลุง ตำบล ทับเที่ยง อำเภอเมืองตรัง ประชาชนได้ส่งบุตรหลานเข้าเรียนเป็นจำนวนมาก ทำให้อาคารเรียนคับแคบ

     ดังนั้นใน พ.ศ. 2459 สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานทุนทรัพย์อีก เป็นจำนวนเงิน 6,000 บาท ก่อสร้างอาคารเรียนเพิ่มเติม เพื่อรองรับนักเรียนที่มีจำนวนมากขึ้นทุก ๆ ปี พร้อมทั้งพระราชทานนามอาคารหลังใหม่ อาคาร “สภาราชินี”  ต่อมาข้าหลวงประจำจังหวัด มีความคิดที่จะตั้งโรงเรียนสตรีประจำจังหวัดบ้าง จึงรวบรวมนักเรียนหญิงได้จำนวนหนึ่ง แต่ขณะนั้นยังไม่มีที่เรียน จึงให้ไปเรียนที่อาคารสภาราชินีพ.ศ. 2474 คณะบุคคลผู้มีจิตศรัทธา ประกอบด้วย

  • พระยาอาณาจักรบริบาล         ข้าหลวงประจำจังหวัดตรัง
  • หลวงยวดประศาสน์               นายอำเภอเมืองตรัง
  • หลวงพิชิตปฏิภาณ                ผู้พิพากษาจังหวัดตรัง
  • ขุนจรรยาวิทูร                      ศึกษาธิการจังหวัดตรัง
  • หลวงทวีทรัพย์ราช                คลังจังหวัดตรัง

      โดยการนำของข้าหลวงประจำจังหวัดตรัง จัดหาทุนก่อสร้างโรงเรียนสตรีประจำจังหวัดตรัง ณ เลขที่ 142 ถนนวิเศษกุล อำเภอเมือง จังหวัดตรัง ในพื้นที่ 8 ไร่ 3 งาน 2 ตารางวา อันเป็นสถานที่ปัจจุบัน

      20 พฤศจิกายน 2479 ย้ายนักเรียนหญิงจากอาคารสภาราชินี ซึ่งสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานทุนทรัพย์ส่วนพระองค์สร้างขึ้นมาเรียนที่โรงเรียนใหม่นี้โดยใช้นาม โรงเรียนว่า    โรงเรียนสตรีประจำจังหวัดตรัง”    และนับเอาวันอันเป็นสิริมงคลนี้เป็นวันเกิดโรงเรียนสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

     พ.ศ. 2494 ได้เสนอต่อกระทรวงศึกษาธิการขออนุญาตเปลี่ยนชื่อโรงเรียนจาก    “โรงเรียนสตรีประจำจังหวัดตรัง”       เป็นโรงเรียน  “สตรีตรังสภาราชินี”

     พ.ศ. 2506 โรงเรียนเปิดสอนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลายแผนกศิลปะรับนักเรียนสหศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจึงขออนุญาติสำนักราชเลขาธิการผ่านทางกระทรวงศึกษาธิการเปลี่ยนชื่อโรงเรียนอีกครั้งหนึ่ง เป็นชื่อ “โรงเรียนสภาราชินีจังหวัดตรัง” และได้ใช้มงคลนามพระราชทานนี้มาตราบจนปัจจุบัน

ใส่ความเห็น

ใส่ความเห็น